การเกณฑ์ทหาร

- ว่าด้วยระเบียบ กฎหมาย ขั้นตอน คำศัพท์ -

เวลาไปอ่านเอกสารของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการหรือตัวบทกฎหมาย ผมเชื่อว่าหลายคนต้องพบกับความงงงันตีสีหน้าแสดงความไม่เข้าใจออกมาอย่างแน่นอน ก็รูปประโยคและคำศัพท์ที่ใช้มันไม่เป็นที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันเลยนี่ครับ

รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร จริงๆ ก็สามารถหาข้อมูลได้ในอินเตอร์เน็ตนี่แหละ เข้ากูเกิ้ลแล้วพิมพ์ว่า "เกณฑ์ทหาร" ก็เป็นอันเรียบร้อย แต่ในที่นี้ผมจะขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตามที่ผมรู้มาก็แล้วกัน

การเกณฑ์ทหาร เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการรับราชการทหารซึ่งจะประกอบด้วยระเบียบการดังนี้

  1. "การขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน" ในปีที่อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ตามกฎหมายจะเรียกว่าอายุย่างเข้า 18 นั่นแหละ ปีนั้นชายไทยทุกคนจะต้องไปแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารกองเกินที่สัสดีเขตของสำนักงานเขตที่ตนอาศัยอยู่
  2. "การรับหมายเกณฑ์" คือทหารกองเกินที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีอายุครบ 20 ปี หรือย่างเข้า 21 ปี จะต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกภายในปีนั้น 
  3. "การเกณฑ์ทหาร" คือ การเข้ารับการตรวจเลือกตามวันนั้นหมายที่ปรากฏใน "หมายเรียก"
    หากได้รับการคัดเลือก ก็จะต้องเข้ารับราชการเป็นทหารต่อไปเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ก็มีการลดเวลาตามวุฒิการศึกษาคือ ถ้าปริญญาตรีกับอนุปริญญา (หรือ ปวส.) ก็จะรับราชการ 1 ปี แต่หากร้องขอสมัครเป็นทหาร จะเป็นแค่ 6 เดือน ส่วนวุฒิม.6 กับ ปวช. จะรับราชการ 2 ปี แต่หากร้องขอก็จะเป็น 1 ปี ซึ่งอันหลังนี่ไม่ต่างจากปกติ แต่แสดงวุฒิการศึกษาไว้เพื่อให้เขารู้ว่าเรามีความรู้ก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบกว่า (ความเห็นส่วนตัวนะครับ)
  4. "การเรียกพลของทหารกองหนุน" คือ แม้ว่าจะผ่านการฝึกวิชาทหาร และรับราชการในกองประจำการจนครบแล้ว ("ปลดประจำการแล้ว") เราจะยังมีภาระเป็น "ทหารกองหนุน" คือเมื่อมีหมายเรียกพลก็จะต้องไปรายงานตัวอยู่ดี ซึ่งกรณีนี้ไม่ค่อยพบแล้วครับ เพราะไม่ใช่ยุคสงคราม
จะเห็นได้ว่า "การเกณฑ์ทหาร" ที่เรียกกันนั้นจะหมายถึงการเข้ารับการตรวจเลือกนั่นเอง ซึ่งหากเป็นทหารกองเกินยังไม่เข้ากองประจำการ จะต้องไป "รายงานตัวเพื่อรับหมายเรียก" ของปีถัดไปทุกปีตามวันเวลาที่กำหนด ไม่งั้นก็จะถือว่า "ขาด" ซึ่งมีโทษทางกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดีเพื่อให้ศาลตัดสินลงโทษ และปีถัดไปก็จะกลายเป็น "คนหลีกเลี่ยง" ซึ่งไม่สามารถจับใบดำใบแดงได้อีก ถูกบังคับให้เป็นทหารอย่างเดียว แต่ยังสามารถยื่นวุฒิการศึกษาเพื่อลดระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการได้อยู่

ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่นี่เลยครับ

คำศัพท์ที่ใช้กัน สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกณฑ์ทหารมาก่อน ย่อมไม่เข้าใจเป็นแน่ เพราะคำที่ใช้นั้นจะมีบริบทซ่อนอยู่ งั้นผมก็จะอธิบายให้แบบง่ายๆ ก็แล้วกัน เท่าที่นึกออกนะครับ

"การรับราชการทหาร" -- ชายไทยทุกคนจะมีภาระผูกพันกับการรับราชการทหารตั้งแต่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบ "ทหารกองหนุน" หรือ "ทหารกองเกิน" ก็ตาม

"ทหารกองหนุน" -- ก็คือทหารที่ปลดจากกองประจำการแล้ว และพวกที่เรียน รด. ปี 3 ขึ้นไป

"ทหารกองเกิน" -- ชายไทยผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินแล้ว

"การขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน" หรือ "การลงบัญชีทหารกองเกิน" -- ก็ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 (แล้วจะบอกทำไม -*-) แต่เพิ่มเติมอีกหน่อยว่า การขึ้นทะเบียนฯ จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่งานสัสดีของสำนักงานเขตตามที่อยู่อาศัยในทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนในขณะนั้น และเขตหรืออำเภอนั้นจะเป็น "ภูมิลำเนาทหาร" -- ก็คือเขตหรืออำเภอท้องที่ที่เราได้ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน และภูมิลำเนาทหารจะมีเพียงแห่งเดียวตลอด แม้จะย้ายที่อยู่ในภายหลังก็ตาม หมายความว่า ซึ่งหากต้องการจะเปลี่ยนภูมิลำเนาทหาร ก็ต้องไปแจ้งอีกที

วันที่ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกินนั้น จะต้องมี สูติบัตร บัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อบิดาหรือมารดาอยู่ด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเราก็จะได้ "ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9)" มาไว้ในมือ ใบนี้้องเก็บไว้ให้ดีนะครับ ห้ามหายเด็ดขาด

"หมายเรียก" หรือ "หมายเกณฑ์" -- คือใบนัดที่จะระบุวันเวลาและสถานที่ให้เราไปรายงานตัวหรือเข้ารับการตรวจเลือก (เกณฑ์ทหาร) โดยปกติแล้วแต่ละเขตหรืออำเภอก็จะเป็นวันเดียวกันในทุกๆ ปี เช่น เขตบางเขนก็จะเป็นวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี (การเกณฑ์ทหารทั่วประเทศอยู่ระหว่าง 1-12 เมษายน ของทุกปีครับ)

ส่วนใครที่กำลังเรียนอยู่ แล้วต้องการผ่อนผัน ก่อนอื่นต้องไปทำเรื่องที่มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาเสียก่อน เพื่อให้เขาส่งเรื่องไปยังสัสดีเขตหรืออำเภอที่เราสังกัดอยู่ โดยปกติจะต้องทำเรื่องผ่อนผันก่อนเดือนพฤศจิกายนในปีที่เราอายุ 20 ปี เพราะปีถัดไปเราจะอายุ 21 ปี (บอกทำไม --") ซึ่งเราจะต้องไปตามหมายเรียกที่รับมา หากเราไม่ทำเรื่องผ่อนผันไว้ก่อน ก็จะไม่มีสิทธิ์ผ่อนผันได้ และเรื่องใดๆ ระเบียบขั้นตอนใดๆ ที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารนี้ ไม่สามารถทำย้อนหลังได้นะครับ ไม่ว่าเราจะยื่นเรื่องยังไง เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนแล้ว เราจะอ้างว่าไม่รู้นั้นไม่ได้เลย ใครที่อายุ 20 ปีแล้ว ยังเรียนอยู่แล้วต้องการผ่อนผัน ก็ขอให้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดีๆ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยสามารถเข้าไปถามไถ่ที่สัสดีเขตหรืออำเภอได้เลย ไม่ต้องกลัวครับ เราต้องกล้าเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของเรา

"การรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียก" -- กรณีพวกผ่อนผัน ในปีแรกเราต้องเข้ารับการตรวจเลือกก่อน เหมือนกับการกรอกทะเบียนประวัติเวลาเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกนั่นแหละ ส่วนปีต่อๆ ไป ก็ไม่ต้องตรวจแล้ว แต่ต้องไปรายงานตัวทุกปี เพื่อรับหมายเรียกในปีถัดไปจนกว่าจะเรียนจบ หรือจนกว่าจะอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์

แต่ถ้าปีไหนไม่ไปรายงานตัวแล้วไม่มีคนไปแทนเพื่อแจ้งเหตุสุดวิสัย จะถือว่า "ขาด" ซึ่งผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดีกันต่อไป งานเข้าเลยล่ะครับทีนี้ (ผมมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว ซึ่งจะเล่าในโอกาสต่อไป)

"ขาด" -- ก็หมายถึงว่า เราไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียกนั่นเอง

"คนหลีกเลี่ยง" -- เมื่อเป็นคนขาดแล้ว ดำเนินคดีเรียบร้อย ศาลลงโทษเสร็จสิ้น ปีถัดไปเราก็จะกลายเป็นคนหลีกเลี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (จะเล่นคำให้งงทำไมเนี่ย --") คือในปีนั้นจะไม่มีสิทธิ์ร้องขอหรือจับใบดำใบแดง จะต้องเข้ารับราชการทันที ซึ่งสิทธิต่างๆ ในการลดหย่อนจะเทียบเท่าพวกจับโดนใบแดงเลยครับ

"ร้องขอ" -- คือพวกที่เข้ารับการตรวจเลือก แล้วต้องการสมัครเป็นทหารเข้ากองประจำการในปีนั้น โดยพวกที่ร้องขอนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะไปอยู่ทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ ครับ

"ทบ.1" -- ก็คือทหารบก ผลัด 1 ไอ้ตัวย่อข้างหน้าคงเดากันได้อยู่แล้ว ผมจะอธิบายเรื่องตัวเลขแล้วกัน คือการเข้ารับราชการทหารของทหารกองเกินจะมีสองผลัด คือ ผลัด 1 และ ผลัด 2 ... -*-

"ผลัด 1" -- คือเข้ารับการฝึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
"ผลัด 2" -- คือเข้ารับการฝึกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

ใครที่ต้องเป็นทหาร ไม่ว่าจะสมัคร โดนใบแดง หรือหลีกเลี่ยง แล้วต้องการใช้สิทธิลดหย่อน จะต้องยื่นหลักฐานการศึกษาภายในวันที่เกณฑ์เท่านั้นนะครับ ไม่สามารถยื่นย้อนหลังได้

ส่วนหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องนำไปในวันตรวจเลือกก็จะมี ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) หมายเรียก (แบบ สด.35) และบัตรประชาชน

เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้น สิ่งที่จะต้องเอากลับบ้านมาด้วย (นอกจากหลักฐานที่เอาไปเอง) ก็คือ "ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (แบบ สด.43)" อันนี้ทุกคนต้องได้นะครับ ไม่สำคัญว่าจะผ่อนผันหรือเป็นทหารเลย

ส่วนคนที่จะได้เป็นทหารในปีที่เกณฑ์นั้น นอกจากใบ สด.43 แล้ว ก็จะมีหมายเรียกอีกใบ ซึ่งเป็น "หมายนัดเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.40)" เพื่อนำไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่นัดหมาย แล้วก็ไปเป็นท.ทหารอดทนกัน