วันแรก

วันแรกที่ไปถึง ก็วุ่นวายเล็กน้อยตามประสาของคนมากหน้าหลายตาต่างถิ่นต่างแดนมากองสุมกันโดยมิได้นัดหมาย (แต่โดนหมายนัดมา) โชคดีที่ทุกคนที่เข้ามาดูเข้ากันได้ดี ผูกมิตรได้ง่าย แม้ภูมิหลังจะต่างกัน แต่ทุกคนก็ดูเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ได้ดี

วันแรก (๑ พ.ค. ๕๓) เป็นวันเสาร์ วันต่อมาก็เป็นวันอาทิตย์ (บอกทำไม) สองวันแรกเลยฝึกกันแบบขำๆ ถือเป็นการอุ่นเครื่อง มาเริ่มแบบจริงจังก็วันจันทร์ (๓ พ.ค. ๕๕) เพราะเป็นวันราชการ และเริ่มเข้าระเบียบเต็มรูปแบบ ทหารใหม่ก็มาครับทุกนายแล้ว (มาเพิ่มจากภาคอีสาน)

วันแรกส่วนใหญ่ก็นั่งเรียนเกี่ยวกับพวกระเบียบทหารต่างๆ ต้องจดตามคุณครูทุกตัวอักษร รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กประถมอีกครั้ง ฮ่าๆ

การเตรียมตัว

เมื่อรู้แน่แท้และแน่นอนแล้วว่าจะต้องไปเป็นทหาร ก็ต้องเตรียมตัวกันหน่อย เพราะจะต้องไปฝึกทหารใหม่เป็นเวลา 2 เดือน เป็น 2 เดือนที่จะไม่มีการติดต่อสือสารจากภายนอก ไร้ซึ่งข้อมูลข่าวสารมากระทบการรับรู้

คือตอนนี้ผมก็ยังไม่มีประสบการณ์ แต่เท่าที่สอบถามมาว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า

ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากหรอก เตรียมใจอย่างเดียว (ฮา)

ซึ่งจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น เพราะเขาจะไม่ให้เราอะไรไปเลย พวกของใช้ส่วนตัวเขาจะมีให้ทั้งหมด (แม้แต่กางเกงใน) ถ้าพกอะไรไป เขาก็จะให้ฝากไว้ในวันแรก (เรียกง่ายๆ ว่ายึด) แล้ววันกลับจากการฝึกค่อยเอาคืน เงินสด หรือมือถือ ก็ห้ามพก (คงกลัวทหารหนี ฮ่าๆ) แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะเอาไปเผื่อฉุกเฉิน

พี่ทหารคนที่ผมไปถามเขาก็แนะนำว่า วันที่ไปส่งตัวทหารก็ควรใส่เสื้อผ้าเก่าๆ แบบถ้าจะทิ้งก็ไม่เสียดาย เพราะตลอดเวลาการฝึกเราจะต้องใส่ชุดที่เขามีให้ ทั้ง ชุดนอน ชุดลำลอง ชุดฝึก ชุดทหาร รองเท้า ถุงเท้า มีให้หมด อุปกรณ์อาบน้ำ แปรงฟัน โกนหนวด ก็มีให้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องเอาอะไรไปเลย มือถือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอาไปก็ได้ จริงๆ ก็แค่สำหรับคนที่กลัวหาย เพราะเขาจะยึด (รับฝาก) ไว้ แต่ผมก็เอาเครื่องถูกๆ เน่าๆ ไป ส่วนเงินสด ก็พกติดตัวไปสักร้อยสองร้อยก็พอ เผื่อไว้ใช้ฉุกเฉินหรือเผื่อไว้เป็นค่ารถในวันกลับ

ตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้อะไรมากนัก ต้องรอพรุ่งนี้ (1 พ.ค. 2553) เสียก่อน เพราะจะเป็นวันที่ผมเดินทางไปฝึกทหารของจริง (กลับมาจะเล่าให้ฟังต่อว่าเป็นยังไง)

ใครที่สูบบุหรี่ (อย่างผม) เขาบอกเลยว่าห้ามสูบ เพราะการสูบบุหรี่จะเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการใช้ร่างกายหนักๆ อย่างการฝึกทหารอาจทำให้เจ็บหน้าอกได้ ผมว่าก็เป็นเหตุผลที่ดี ผมก็เลยลดและเลิกสูบบุหรี่ก่อนไป

ก็ขอเตือนเลยสำหรับคนสูบบุหรี่ ว่าทางที่ดีควรจะลด หรือเลิกไปเลยก่อนไป เพราะการไปทั้งๆ ที่ยังเลิกไม่ได้มันน่าจะทรมานเวลาเสี้ยน แต่ถ้าลดได้บ้าง อาจจะเป็นผลดี เพราะช่วงที่อยากสูบบางทีเราจะทดแทนด้วยการออกกำลังกายแบบเสียเหงื่อเยอะๆ ซึ่งจะทำให้เลิกได้ง่าย และเลิกได้ในที่สุด การฝึกทหารก็อาจทำให้เลิกบุหรี่ได้เลย หรือถ้าใครที่เลิกได้ก็ดีใจด้วย (ส่วนจะกลับไปสูบอีกหรือเปล่าก็แล้วแต่)

สำหรับผม ผมเลิกสูบก่อนไปประมาณ 3 วัน เพราะผมเคยพยายามเลิกมาครั้งหนึ่งแล้วพบว่า ช่วงแรกๆ ที่ไม่ได้สูบนั้น ร่างกายจะกระสับกระส่าย หงุดหงิดง่ายเวลาต้องใช้สมอง (เช่นเวลามีเรื่องกวนใจหรือเวลาทำงาน) แล้วกล้ามเนื้อจะกระตือรือร้นมาก ผมก็ออกไปวิ่ง แล้วก็วิ่งไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนขาล้าแทบหมดแรง แต่ก็ยังไม่หอบเท่าไร แสดงว่าปอดและหัวใจกำลังปรับตัว ซึ่งก็หมายความว่า การสูบบุหรี่นั้นเปลืองพลังงานปอดและหัวใจอย่างมาก แต่พอเลิกไปได้ประมาณอาทิตย์นึง ก็ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว นอกจากจะออกกำลังกายต่อจนร่างกายเสพติดการออกกำลังกายแทน (แต่ผมกลับเลือกกลับมาสูบ เพราะตอนนั้นแค่อยากลองเลิก ไม่ได้อยากเลิกจริงๆ)

เอาล่ะ ผมก็ไม่อยากจะโม้มากกับเรื่องฝึกทหาร เพราะยังไม่มีประสบการณ์ตรง เอาไว้จะมาให้ข้อมูลอีกทีแล้วกัน

กลายเป็นคน "ขาด" (แต่ไม่ขี้ขลาด)

ผลก็คือ ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

ที่มาที่ไปก็คือ ปีแรกที่เกิดมาอายุ 20 ปี ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 ก็ได้ไปทำเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหารช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นปกติ เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยส่งเรื่องไปที่สัสดีเขต พอเดือนเมษายนปีต่อไป ผมก็จะได้มีรายชื่อเป็นพวกผ่อนผัน ซึ่งไปครั้งแรกนั้นจะมีการตรวจร่างกายเหมือนคนมาเกณฑ์ทหารทั่วไป จากนั้นก็ตรวจดูรายชื่อผ่อนผันถ้ามีชื่อเราก็จะได้ "ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร" (แบบ สด.43) มาครอง ในใบจะระบุชัดเจนว่า เรา "ผ่อนผันตามมาตรา 29 (3)" เสร็จแล้วก็กลับบ้านได้

ทีนี้นอกจากใบ สด.43 แล้ว เราก็จะได้หมายเรียกสำหรับปีถัดไป ซึ่งเราต้องไปรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียกทุกปีแม้จะผ่อนผันก็ตาม ปีถัดไปผมก็ไปรายงานตัวปกติ

แต่อีกปีนี่สิ ด้วยความเลินเล่อ ประกอบกับเป็นช่วงชีวิตที่ไม่มั่นคง ลืมวันลืมคืน ทำให้ผมไม่ได้ไปรายงานตัว กว่าจะนึกได้ก็สองทุ่มของวันนั้นแล้ว (เขาคงจับใบดำใบแดงกันเสร็จแล้วล่ะ) งานเข้าเลยครับพี่น้อง รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และด้วยการที่เป็นคนเรื่อยเปื่อยก็เลยปล่อยไป

หลังจากนั้นสองเดือน สำนักงานตำรวจฯ ก็ส่งหมายเรียกผู้ต้องหามาที่บ้าน เป็นคดีความอาญา เป็นผู้ต้องหาว่า "เป็นทหารกองเกินไม่ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียก" ผู้ฟ้องก็ไม่ใช่ใคร สำนักงานเขตที่เราสังกัดอยู่นั่นเอง ตอนนั้นตกใจมาก ไม่รู้จะโดนอะไร ติดคุกหรือเปล่า แล้วเรื่องเรียนล่ะ การเงินยิ่งไม่ค่อยมั่นคงอยู่ แต่ก็ต้องไปไม่งั้นคงเป็นเรื่องใหญ่อีก

พอไปถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนรับเรื่องและนัดให้เราไปก็อธิบาย(เกือบ)ดี แทบไม่รู้เรื่อง แต่สรุปคือต้องไปขึ้นศาลในวันเดียวกันนั้นเลย ผมก็ไปรอที่ศาล นัดกันไว้บ่ายโมง แต่กว่าพี่แกจะมาก็ล่อไปบ่ายสาม นี่ถ้าไม่ทันศาลปิดแล้วจะไปโทษใครล่ะนี่

ตอนนั่งในศาลก็ให้อารมณ์แปลกๆ ดี เพราะไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน ถือเป็นประสบการณ์

ศาลก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเรา ผมก็ได้แต่ต้องยอมรับเพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็ต้องโทษจำคุก 3 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี คือตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร ได้ยินแต่ว่าจำคุกก็ตกใจกันไป แต่คุณตำรวจที่พามาก็บอกว่ารอลงอาญาก็ไม่ต้องไปติดคุกจริงๆ เหมือนเป็นการโดนทัณฑ์บน เสร็จแล้วก็ไปทำเรื่องอีกนิดหน่อยตามระเบียบขั้นตอน แต่ขั้นตอนที่สำคัญก็คือเราต้องคัดคำฟ้อง หมายถึงขอสำเนาเกี่ยวกับคดีของเรา เอาไว้เป็นหลักฐานว่าศาลตัดสินแล้ว คดีสิ้นสุดแล้ว

ความตกใจยังไม่หายไปไหน เมื่อคุณตำรวจบอกว่า อาจจะผ่อนผันไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็งานเข้าเลย ที่ผมกังวลก็ไม่พ้นเรื่องเรียนล่ะ เพราะผมลงเรียนไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา ไหนจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนหลักสูตรอีก กังวลไปต่างๆ นานา

แต่แล้วปีถัดไปที่ไปรายงานตัว ก็ไม่มีปัญหาอะไร ชื่อผมยังอยู่ในบัญชีคนผ่อนผันอยู่ และยังผ่อนผันต่อไปตามปกติ (จนถึงอายุ 26)

เพียงแต่ว่า พอพ้นสิทธิ์ผ่อนผัน หรือสละสิทธิ์เอง จะไม่มีสิทธิ์จับใบดำใบแดง ต้องเป็นทหารทันที
อันนี้ผมก็ไม่กลัวหรอก เพราะผมก็วางแผนไว้ว่าพอเรียนจบก็จะสมัครเป็นทหารอยู่แล้ว เพียงแต่ระยะเวลามันเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา จะ 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ไม่ต่าง เพราะเป้าหมายผมอยู่ที่การฝึกทหารใหม่ช่วง 2 เดือนแรก

สิ่งที่กังวลก็แค่ กลัวจะผ่อนผันต่อไม่ได้ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อระบบการเรียนที่ผมวางแผนไว้

ส่วนหน้าที่และสิทธิของผู้ผ่อนผันโดยทั่วไปนั้น ตามที่เขาบอกไว้ก็มีแค่ว่า สามารถสละสิทธิ์ผ่อนผันได้ภายใน 12.00 น. และเมื่อจบการศึกษา หรือออกจากสถานศึกษาเดิม ต้องแจ้งต่อสัสดีภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะมีความผิดอาญา (อีกแล้ว) แต่ตอนที่ผมจบ ผมก็ไม่ได้ไปแจ้ง ก็ไม่เห็นมีอะไร แถมยังผ่อนผันต่อได้อีกตั้ง 2 ปี (อันนี้ไม่รู้จริงๆ เขาอาจจะอะลุ่มอะหล่วย แต่ไม่ชัวร์ก็อย่าทำแบบผมเลย ทำตามระเบียบกฎหมายเถอะ)

การเกณฑ์ทหาร

- ว่าด้วยระเบียบ กฎหมาย ขั้นตอน คำศัพท์ -

เวลาไปอ่านเอกสารของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการหรือตัวบทกฎหมาย ผมเชื่อว่าหลายคนต้องพบกับความงงงันตีสีหน้าแสดงความไม่เข้าใจออกมาอย่างแน่นอน ก็รูปประโยคและคำศัพท์ที่ใช้มันไม่เป็นที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันเลยนี่ครับ

รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร จริงๆ ก็สามารถหาข้อมูลได้ในอินเตอร์เน็ตนี่แหละ เข้ากูเกิ้ลแล้วพิมพ์ว่า "เกณฑ์ทหาร" ก็เป็นอันเรียบร้อย แต่ในที่นี้ผมจะขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตามที่ผมรู้มาก็แล้วกัน

การเกณฑ์ทหาร เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการรับราชการทหารซึ่งจะประกอบด้วยระเบียบการดังนี้

  1. "การขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน" ในปีที่อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ตามกฎหมายจะเรียกว่าอายุย่างเข้า 18 นั่นแหละ ปีนั้นชายไทยทุกคนจะต้องไปแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารกองเกินที่สัสดีเขตของสำนักงานเขตที่ตนอาศัยอยู่
  2. "การรับหมายเกณฑ์" คือทหารกองเกินที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีอายุครบ 20 ปี หรือย่างเข้า 21 ปี จะต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกภายในปีนั้น 
  3. "การเกณฑ์ทหาร" คือ การเข้ารับการตรวจเลือกตามวันนั้นหมายที่ปรากฏใน "หมายเรียก"
    หากได้รับการคัดเลือก ก็จะต้องเข้ารับราชการเป็นทหารต่อไปเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ก็มีการลดเวลาตามวุฒิการศึกษาคือ ถ้าปริญญาตรีกับอนุปริญญา (หรือ ปวส.) ก็จะรับราชการ 1 ปี แต่หากร้องขอสมัครเป็นทหาร จะเป็นแค่ 6 เดือน ส่วนวุฒิม.6 กับ ปวช. จะรับราชการ 2 ปี แต่หากร้องขอก็จะเป็น 1 ปี ซึ่งอันหลังนี่ไม่ต่างจากปกติ แต่แสดงวุฒิการศึกษาไว้เพื่อให้เขารู้ว่าเรามีความรู้ก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบกว่า (ความเห็นส่วนตัวนะครับ)
  4. "การเรียกพลของทหารกองหนุน" คือ แม้ว่าจะผ่านการฝึกวิชาทหาร และรับราชการในกองประจำการจนครบแล้ว ("ปลดประจำการแล้ว") เราจะยังมีภาระเป็น "ทหารกองหนุน" คือเมื่อมีหมายเรียกพลก็จะต้องไปรายงานตัวอยู่ดี ซึ่งกรณีนี้ไม่ค่อยพบแล้วครับ เพราะไม่ใช่ยุคสงคราม
จะเห็นได้ว่า "การเกณฑ์ทหาร" ที่เรียกกันนั้นจะหมายถึงการเข้ารับการตรวจเลือกนั่นเอง ซึ่งหากเป็นทหารกองเกินยังไม่เข้ากองประจำการ จะต้องไป "รายงานตัวเพื่อรับหมายเรียก" ของปีถัดไปทุกปีตามวันเวลาที่กำหนด ไม่งั้นก็จะถือว่า "ขาด" ซึ่งมีโทษทางกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดีเพื่อให้ศาลตัดสินลงโทษ และปีถัดไปก็จะกลายเป็น "คนหลีกเลี่ยง" ซึ่งไม่สามารถจับใบดำใบแดงได้อีก ถูกบังคับให้เป็นทหารอย่างเดียว แต่ยังสามารถยื่นวุฒิการศึกษาเพื่อลดระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการได้อยู่

ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่นี่เลยครับ

คำศัพท์ที่ใช้กัน สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกณฑ์ทหารมาก่อน ย่อมไม่เข้าใจเป็นแน่ เพราะคำที่ใช้นั้นจะมีบริบทซ่อนอยู่ งั้นผมก็จะอธิบายให้แบบง่ายๆ ก็แล้วกัน เท่าที่นึกออกนะครับ

"การรับราชการทหาร" -- ชายไทยทุกคนจะมีภาระผูกพันกับการรับราชการทหารตั้งแต่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบ "ทหารกองหนุน" หรือ "ทหารกองเกิน" ก็ตาม

"ทหารกองหนุน" -- ก็คือทหารที่ปลดจากกองประจำการแล้ว และพวกที่เรียน รด. ปี 3 ขึ้นไป

"ทหารกองเกิน" -- ชายไทยผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินแล้ว

"การขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน" หรือ "การลงบัญชีทหารกองเกิน" -- ก็ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 (แล้วจะบอกทำไม -*-) แต่เพิ่มเติมอีกหน่อยว่า การขึ้นทะเบียนฯ จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่งานสัสดีของสำนักงานเขตตามที่อยู่อาศัยในทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนในขณะนั้น และเขตหรืออำเภอนั้นจะเป็น "ภูมิลำเนาทหาร" -- ก็คือเขตหรืออำเภอท้องที่ที่เราได้ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน และภูมิลำเนาทหารจะมีเพียงแห่งเดียวตลอด แม้จะย้ายที่อยู่ในภายหลังก็ตาม หมายความว่า ซึ่งหากต้องการจะเปลี่ยนภูมิลำเนาทหาร ก็ต้องไปแจ้งอีกที

วันที่ไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกินนั้น จะต้องมี สูติบัตร บัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อบิดาหรือมารดาอยู่ด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเราก็จะได้ "ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9)" มาไว้ในมือ ใบนี้้องเก็บไว้ให้ดีนะครับ ห้ามหายเด็ดขาด

"หมายเรียก" หรือ "หมายเกณฑ์" -- คือใบนัดที่จะระบุวันเวลาและสถานที่ให้เราไปรายงานตัวหรือเข้ารับการตรวจเลือก (เกณฑ์ทหาร) โดยปกติแล้วแต่ละเขตหรืออำเภอก็จะเป็นวันเดียวกันในทุกๆ ปี เช่น เขตบางเขนก็จะเป็นวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี (การเกณฑ์ทหารทั่วประเทศอยู่ระหว่าง 1-12 เมษายน ของทุกปีครับ)

ส่วนใครที่กำลังเรียนอยู่ แล้วต้องการผ่อนผัน ก่อนอื่นต้องไปทำเรื่องที่มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาเสียก่อน เพื่อให้เขาส่งเรื่องไปยังสัสดีเขตหรืออำเภอที่เราสังกัดอยู่ โดยปกติจะต้องทำเรื่องผ่อนผันก่อนเดือนพฤศจิกายนในปีที่เราอายุ 20 ปี เพราะปีถัดไปเราจะอายุ 21 ปี (บอกทำไม --") ซึ่งเราจะต้องไปตามหมายเรียกที่รับมา หากเราไม่ทำเรื่องผ่อนผันไว้ก่อน ก็จะไม่มีสิทธิ์ผ่อนผันได้ และเรื่องใดๆ ระเบียบขั้นตอนใดๆ ที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารนี้ ไม่สามารถทำย้อนหลังได้นะครับ ไม่ว่าเราจะยื่นเรื่องยังไง เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนแล้ว เราจะอ้างว่าไม่รู้นั้นไม่ได้เลย ใครที่อายุ 20 ปีแล้ว ยังเรียนอยู่แล้วต้องการผ่อนผัน ก็ขอให้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดีๆ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยสามารถเข้าไปถามไถ่ที่สัสดีเขตหรืออำเภอได้เลย ไม่ต้องกลัวครับ เราต้องกล้าเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของเรา

"การรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียก" -- กรณีพวกผ่อนผัน ในปีแรกเราต้องเข้ารับการตรวจเลือกก่อน เหมือนกับการกรอกทะเบียนประวัติเวลาเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกนั่นแหละ ส่วนปีต่อๆ ไป ก็ไม่ต้องตรวจแล้ว แต่ต้องไปรายงานตัวทุกปี เพื่อรับหมายเรียกในปีถัดไปจนกว่าจะเรียนจบ หรือจนกว่าจะอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์

แต่ถ้าปีไหนไม่ไปรายงานตัวแล้วไม่มีคนไปแทนเพื่อแจ้งเหตุสุดวิสัย จะถือว่า "ขาด" ซึ่งผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดีกันต่อไป งานเข้าเลยล่ะครับทีนี้ (ผมมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว ซึ่งจะเล่าในโอกาสต่อไป)

"ขาด" -- ก็หมายถึงว่า เราไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียกนั่นเอง

"คนหลีกเลี่ยง" -- เมื่อเป็นคนขาดแล้ว ดำเนินคดีเรียบร้อย ศาลลงโทษเสร็จสิ้น ปีถัดไปเราก็จะกลายเป็นคนหลีกเลี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (จะเล่นคำให้งงทำไมเนี่ย --") คือในปีนั้นจะไม่มีสิทธิ์ร้องขอหรือจับใบดำใบแดง จะต้องเข้ารับราชการทันที ซึ่งสิทธิต่างๆ ในการลดหย่อนจะเทียบเท่าพวกจับโดนใบแดงเลยครับ

"ร้องขอ" -- คือพวกที่เข้ารับการตรวจเลือก แล้วต้องการสมัครเป็นทหารเข้ากองประจำการในปีนั้น โดยพวกที่ร้องขอนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะไปอยู่ทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ ครับ

"ทบ.1" -- ก็คือทหารบก ผลัด 1 ไอ้ตัวย่อข้างหน้าคงเดากันได้อยู่แล้ว ผมจะอธิบายเรื่องตัวเลขแล้วกัน คือการเข้ารับราชการทหารของทหารกองเกินจะมีสองผลัด คือ ผลัด 1 และ ผลัด 2 ... -*-

"ผลัด 1" -- คือเข้ารับการฝึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
"ผลัด 2" -- คือเข้ารับการฝึกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

ใครที่ต้องเป็นทหาร ไม่ว่าจะสมัคร โดนใบแดง หรือหลีกเลี่ยง แล้วต้องการใช้สิทธิลดหย่อน จะต้องยื่นหลักฐานการศึกษาภายในวันที่เกณฑ์เท่านั้นนะครับ ไม่สามารถยื่นย้อนหลังได้

ส่วนหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องนำไปในวันตรวจเลือกก็จะมี ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) หมายเรียก (แบบ สด.35) และบัตรประชาชน

เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้น สิ่งที่จะต้องเอากลับบ้านมาด้วย (นอกจากหลักฐานที่เอาไปเอง) ก็คือ "ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (แบบ สด.43)" อันนี้ทุกคนต้องได้นะครับ ไม่สำคัญว่าจะผ่อนผันหรือเป็นทหารเลย

ส่วนคนที่จะได้เป็นทหารในปีที่เกณฑ์นั้น นอกจากใบ สด.43 แล้ว ก็จะมีหมายเรียกอีกใบ ซึ่งเป็น "หมายนัดเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.40)" เพื่อนำไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่นัดหมาย แล้วก็ไปเป็นท.ทหารอดทนกัน

เกริ่นนำ

   เมื่อสมัยม.ปลาย เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักจะไปเรียน รด. กันเป็นเรื่องปกติซึ่งสาเหตุหลักก็คือจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ทหารในอนาคต ส่วนตัวผมเองนั้นไม่ได้เรียนไปกับเขา เพราะขี้เกียจก็ส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งคือไม่เห็นมันจะน่าเรียนตรงไหน การเรียน รด. เพื่อจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ทหารก็เป็นเหตุผลที่ไม่ดีพอในความคิดผม เพราะเรียน รด. ต้องเรียนตั้งสามปี ขณะที่การไปเป็นทหารเกณฑ์ อย่างมากก็สองปี ซึ่งความเป็นจริงก็น้อยกว่านั้น เพราะยังไงผมก็เรียนจบปริญญาตรีอยู่แล้ว ก็จะลดระยะเวลาประจำการเหลือ 6 เดือน (กรณีสมัคร) หรือ 1 ปี (กรณีโดนใบแดง) แล้วการเป็นทหารก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน สำหรับผมในตอนนั้นมันน่าสนใจด้วยซ้ำ

   ตอนที่อาจารย์แนะแนวมาถามไถ่ถึงเรื่องการไม่เรียน รด. ผมก็ตอบไปด้วยความมั่นใจว่า ผมจะสมัครเกณฑ์ทหารครับ ง่ายๆ ตัดปัญหาจะได้ไม่ต้องอธิบายอะไรกันยืดยาว

   แต่ผมก็ไม่ใช่คนที่จะเชื่อคำโฆษณาที่ว่า "เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด" หรือคุณค่า ค่านิยมมากมายที่ปลูกฝังกัน เช่น หน้าที่ลูกผู้ชายไทย เรื่องพวกนั้นไม่ได้มีผลกับการติดสินใจของผมเลยแม้แต่น้อย

   จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้อยากเป็นทหารอะไรมากมายนัก แค่เห็นว่ามันไม่เห็นจะเป็นเรื่องเดือดร้อนจนถึงขั้นต้องดิ้นรนเรียน รด. เพื่อจะได้รอดพ้นอะไรแบบนี้ แถมตอนนั้นผมเองก็มีความคิดอยากจะเป็นครู ซึ่งถ้าเป็นครูมันก็ไม่ต้องมาเป็นทหาร หรือต่อให้ไม่ได้เป็นครู เรียนจบมาก็สมัครเป็นทหาร จากนั้นค่อยมาหาอะไรทำกันต่อก็ไม่เสียหายอะไร ไม่ใช่แค่ไม่เสียหาย ผมว่ามันน่าจะได้ประสบการณ์ที่ดีอยู่เหมือนกัน

   คือว่า ตอนนั้นก็เล่นกีฬา แล้วก็สนใจพวกศิลปะการต่อสู้ ก็เลยทำให้บ้าพลังอยู่เหมือนกัน ชอบออกกำลังกายแบบสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่งยืดหยุ่นคล่องตัว ก็เลยคิดว่าการไปเป็นทหารแบบจริงจังน่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ร่างกายได้พอสมควร

   ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผมจึงไม่เคยมีความคิดกลัวการเป็นทหารเลย อยากเป็นด้วยซ้ำไป คิดเสียว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี